เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ตรวจหาไวรัสในค้างคาวมงกุฎ รับมือโรคอุบัติใหม่​ (ชมคลิป)​

หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด19 ในตลาดขายของป่ากลางเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทุกวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน ว่าเชื้อไวรัสนี้ ผ่านสัตว์ตัวกลางชนิดใด แต่เมื่อมีการตรวจรหัสพันธุกรรมพบว่า ตรงกับค้างคาวมงกุฎ ถึงร้อยละ 96 

จึงมีการลงพื้นที่สำรวจหาค้างคาวมงกุฎในไทย เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส เก็บข้อมูลประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางรับมือ กับโรคอุบัติใหม่ ที่อาจมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ในไทย 


ผืนป่าตะวันออกเป็นเป้าหมายแรก ที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่สำรวจ ถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎ หลังพบว่าค้างคาวชนิดนี้มีความเชื่อมโยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด19 ในประเทศจีน

จากถ้ำแห่งหนึ่งที่ จ.จันทบุรี ทีมนักวิจัยและสัตวแพทย์เดินทาง มาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อจับค้างคาวมงกุฎตรวจหาไวรัสเป็นแห่งที่ 2

และบริเวณท่อระบายน้ำ จุดนี้ก็คือจุดที่พบค้างคาวมงกุฎจำนวนมากกว่า 200 ตัว เจ้าหน้าที่ใช้จังหวะเวลาช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ค้างคาวยังไม่ออกไปหากิน จับค้างคาวตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาประเมินความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ต้องใส่ชุด มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อ ก่อนมุดลงไปเก็บตัวอย่างค้างคาวในท่อระบายน้ำแคบๆ

การจับค้างคาวมงกุฎเพื่อตรวจสอบหาเชื้อไวรัส มีขึ้นตามคำสั่งของ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ให้ต้องสำรวจค้างคาวมงกุฎที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 23 ชนิด ซึ่งฐานข้อมูลเดิมไม่ทันสมัย เนื่องจากมีการโยกย้ายถิ่นอาศัย จึงต้องลงพื้นที่สำรวจใหม่

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสในสัตว์ป่า นับเป็นการประเมินความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่อื่นๆนอกจากโรคโควิด 19 เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อหาแนวทางรับมือ เป็นแนวทางรอดของมวลมนุษยชาติ

หลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จับค้างคาวตัวอย่างมาแล้ว ทีมนักวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำมาจำแนกชนิด ดูลักษณะสัณฐานวิทยา ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดปีก และเก็บดีเอ็นเอ จากนั้นจะนำไป เก็บน้ำลาย ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ และ เจาะเลือด เพื่อเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจหาเชื้อไวรัสในแลปทดลองของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คาดว่าจะได้ผลตรวจเชื้อไวรัสจากกลุ่มตัวอย่างค้างคาวเหล่านี้ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม​ 2563

ในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่มีความถี่ของการเกิดโรคอุบัติใหม่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นโรคระบาดที่เกิดจากการติดต่อจากสัตว์ป่าสู่คน สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การทำลายทรัพยากรป่าไม้ และการบริโภคสัตว์ป่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ นั่นหมายความว่า การระบาดของโรคโควิด 19 จึงไม่ใช่โรคการระบาดครั้งสุดท้าย

ความคิดเห็น