เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พัฒน์พงษ์กำลังจะตาย! แห่เซ้งร้าน​ คนว่างงานขายตัว

"ทอมทอมแวร์ยูโกลาสไนท์ ไอเลิฟเมืองไทย ไอไลค์พัฒน์พงษ์" เนื้อเพลงติดหูของวงคาราบาวที่มีมาเนิ่นนาน สะท้อนภาพสังคมไทยในชื่อเพลง "เวลคัมทูไทยแลนด์" 

 นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเมืองไทย ก็เพราะแรงดึงดูด​จากแหล่งสถานบันเทิงที่ขึ้นชื่ออย่าง​ ​"พัฒน์พงษ์" และในย่านต่างๆทำนองเดียวกันนี้

แต่เชื่อไหมว่า​ ผมไม่เคยไปเที่ยวย่านพัฒน์พงษ์หรือสีลมเลย เพราะเป็นย่านของชาวต่างชาติส่วนใหญ่เด็กไทยคุ้นชินแถวทองหล่อ​ เอกมัย ข้าวสาร หรือไม่ก็​ RCA 

ช่วงโควิด สถานบันเทิงที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นปิดสนิทจากมาตรการล็อคดาวน์คุมโรคระบาด

นี่คือภาพถ่าย ถนนพัฒน์พงษ์ซอย 1 ในคืนวันศุกร์ 

วันศุกร์น่าจะเป็นคืนที่คึกคักในย่านสถานบันเทิง แต่วันนี้เงียบเหงา

ผมมาที่พัฒน์พงษ์​ เพื่อมาทำข่าวดูว่า แหล่งท่องเที่ยวยามราตรี​ระดับตำนานจากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนไปอย่างไร​ หลังถูกสั่งให้ปิดมาเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน

สถานบันเทิงที่แออัด​ หนาแน่นกันอยู่ในซอยพัฒน์พงษ์​ ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติก็ทยอยเซ้งร้าน ย้ายออกไปหมด​ นั่นหมายความว่าพัฒน์พงษ์หลังโควิด จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในวันที่พัฒน์พงษ์ไม่ต้องขายเหล้าเบียร์ และในช่วงเวลาที่ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้​ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งกินข้าวในพัฒน์พงษ์โดยที่หาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้

ถ้ำกลางซอยมืดๆ ยังเห็นแสงไฟ สลัว จากร้าน ​ French​ Kiss​ Bangkok​ อยู่กลางซอย​ 

ร้านนี้ขายสเต็ก​กินคู่กับไวน์ 

วันนี้คนที่นั่งในร้านก็กินแต่สเต็กแบบไม่มีไวน์

 เจ้าของร้านเป็นชาวฝรั่งเศส ที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วย​ ชื่อ​ MR.GILL เขาทำธุรกิจอยู่ที่นี่มา 20 ปีแล้ว 

เขาบอกกับเราว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ต้องปิดไป​ หากเปรียบเทียบลูกค้าก่อนโควิด มีความแตกต่างกันมาก 

ในช่วงเวลาที่เพิ่งมาเปิดร้านได้ประมาณ 1 สัปดาห์ก็เพื่อที่จะทดลองดูว่าจะสามารถพยุง รายจ่าย และมีรายรับ​พอที่จะไปต่อหรือไม่

แต่เขาก็ยังมีความหวังว่าหลังโควิดทุกอย่างจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม 

แต่มันจะเป็นอย่างที่​ MR.GILL​ หวังไหม​ นั่นเป็นสิ่งที่ผมกังวล

แน่นอนสถานบันเทิงสถานบริการต่างๆที่ถูกปิดมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่​ ล้มสะเทือนไปถึงคนงานตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเหล่านี้

 เด็กเสิร์ฟ คนขายข้าวแกงริมทาง​ คนขายของที่ระลึก ตลาดไนท์บาซาร์ที่เคยมีก็ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว พากันเงียบไปหมด

"พัฒน์พงษ์กำลังจะตาย เป็นคำพูดของ" สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ (SWING)

เธอเข้ามาทำงานมูลนิธิ​ ในพื้นที่พัฒน์พงษ์ตั้งแต่ปี 2532 ยังจดจำเหตุการณ์โรคระบาดก่อนหน้านั้นก็คือโรคเอดส์ได้ดีเมื่อปี 2537 

พัฒน์พงษ์ก็ยังรอดมาได้และไม่ได้กระทบรุนแรงเท่ากับโรคโควิดครั้งนี้

คนที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเต็มๆก็คือพนักงานขายบริการทางเพศ 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในช่วงโควิด กลับมีจำนวนของคนที่มาขายบริการทางเพศ เพิ่มมากขึ้น ตามอัตราการว่างงาน 

หมายความว่า​ ถ้าใครตกงานแล้วไม่มีทางเลือกก็อาจจะเลือกขายตัว แต่การขายตัวในช่วงเวลาที่เงียบเหงาแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักที่จะมีลูกค้ามาติดต่อ

ความเงียบเหงาที่เห็น ทำให้รู้สึกว่ามีความเป็นไปได้ที่พัฒน์พงษ์​ อาจถึงคราวต้องปิดตำนาน 

 ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโรคในพื้นที่สถานบันเทิง ใช้ระยะเวลายาวนานไป หรือไม่

คุ้มกับการควบคุมโรคหรือไม่ เมื่อต้องแลก กับการล้มหายตายจาก ของย่านสถานบันเทิงแห่งนี้​ ซึ่งมี คนกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบหนักเกินไปโดยไม่จำเป็น? 

ความคิดเห็น