เก็บตกจากวชิรวิทย์ | อะไรที่มีมวลมากย่อมมีแรงดึงดูดมาก
"กฎของฟิสิกส์ที่ระบุว่า อะไรที่มีมวลมากย่อมมีแรงดึงดูดมาก มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างสังคมในปัจจุบันอำนาจรัฐ และอำนาจทุน มีบทบาทมาก ขณะที่ อำนาจทางสังคม มีน้อย คือ การสร้างพลังสังคมให้ใหญ่ขึ้น และดึงรัฐ และทุน เข้ามามีส่วนร่วม ให้มีอำนาจเสมอกัน กลายเป็น สังคมสมานุภาพ"
เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 62
www.nationtv.tv
การบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเวศ วะสี ในงานประชุมของสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 หัวข้อลดความเหลื่อมล้ำ วานนี้ (2 พ.ย. 62) มีการยกเอากฎของฟิสิกส์ที่ระบุว่า "อะไรที่มีมวลมากย่อมมีแรงดึงดูดมาก" มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่เหนือชั้นมากจริงๆ
อะไรที่มีมวลมากในสังคมไทยคงจะหนีไม่พ้น "อำนาจรัฐ" และ "อำนาจทุน" ซึ่งสังคมมีมวลอำนาจน้อยกว่าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างอำนาจให้สังคม โดยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับสังคม เพื่อจะได้มีแรงดึงดูด อำนาจรัฐและอำนาจทุน ให้เกิดความสมดุล และลดความเหลื่อมล้ำ
จากการบรรยาย หมอประเวศ ระบุว่า "ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" มี 5 โครงสร้างที่เป็นปัญหา คือ...
1.ปัญหาวิธีคิดสังคมไทย ที่มองว่าความดี ความชั่ว เป็นเรื่องส่วนบุคคล คิดว่าคนจนไม่ดี และสมัยก่อนเรียกคนจนว่า คนเลว ซึ่งมีสุภาษิตกล่าวว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ดังนั้นต้องทำงานให้หนัก เป็นต้น ดังนั้นวิธีที่เป็นปัญหา คือ การซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ
2.โครงสร้างทางจิตสำนึก ซึ่งสังคมไทยขาดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียม เพราะมองคนยากจน ไม่มีศักดิ์ศรี สังคมไทยเป็นสังคมที่เกลียดคนจน แม้แต่หมาก็เกลียดคนจน เพราะคนจนแต่งตัวไม่สวย มีกลิ่นเหม็น หมาจึงเห่า จิตสำนึกเป็นเรื่องลึกที่นำไปสู่พฤติกรรม และมีโครงสร้างจิตสำนึกที่เป็นธรรม,
3.โครงสร้างทางสังคม ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง เป็นความสำพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจข้างบน และคนไม่มีอำนาจข้างล่าง หากสังคมใดเป็นแนวดิ่ง ต่อให้เคร่งศาสนา ศีลธรรมจะไม่ดี เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาเป็นของดี แต่มีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมมีสูง เห็นได้จากประเทศไทยมีอัตราการฆ่าคนตายสูงถึง 9 เท่าหากเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา
4. โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม อำนาจเงินมีความดึงดูด
5.โครงสร้างอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาเคยใช้อำนาจรวมศูนย์เพราะความจำเป็น แต่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ ทั้งนี้อำนาจรัฐ คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะจัดสรรงบประมาณ กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าประเทศจะเดินไปทางไหน ดังนั้นประเด็นอำนาจรัฐ จึงไม่มีผลต่อโครงสร้างทั้งหมด เหมือนกับเข่ง
หมอประเวศ มองว่าแนวทางออกของสังคมที่เหลื่อมล้ำ ที่มากจาก "อำนาจรัฐ" และ "อำนาจทุน" มีบทบาทมาก ขณะที่ "อำนาจทางสังคม" มีน้อย คือ การสร้างพลังสังคมให้ใหญ่ขึ้น และดึงรัฐ และทุน เข้ามามีส่วนร่วม ให้มีอำนาจเสมอกัน กลายเป็น "สังคมสมานุภาพ" ทั้งภาครัฐ , ทุน , สังคม เชื่อมโยง และเอื้ออาทรต่อกัน เพื่อให้เกิดความลงตัว
สิ่งนี้ลงตัวที่สุด เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อสร้าง "สังคมสมานุภาพ" และใช้เครื่องมือทางปัญญา คือเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง
สำหรับการรวมศูนย์อำนาจมีคนบอกว่าเพราะความจำเป็น แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทางออกได้ คือ "ต้องทำให้เกิดการรวมตัวของชุมชนและบทบาทต่างๆ ของสังคม"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น